4 วิธีปรับตัวเข้าสู่ยุค VUCA
เมื่อสัก 20 ปีที่แล้วเราคงเคยได้ยินคนรุ่นพ่อแม่ของเราสั่งสอนไว้ว่า จงหางานทำในบริษัทใหญ่โต จะได้มีการงานและอนาคตที่มั่นคง อยู่ในองค์กรเดียวและทำงานไต่เต้าเลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ
ตัดภาพมาที่ 20 ปีให้หลังนี้ เรากลับพบว่า ไม่มีอะไรที่มั่นคงจริงๆเลยสักอย่างเดียว
ความหวังของคนทำงานในตอนนั้นก็คงเปรียบได้กับผู้โดยสารบนเรือไททานิคซึ่งถูกขายฝันด้วยคอนเซ็ปว่า เรือลำนี้เป็นเรือที่ไม่มีวันจม แต่กว่าจะรู้ว่าเรือไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้นก็สายไปเสียแล้ว
หลายคนต่างตั้งคำถามว่า เราจะอยู่รอดในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงเหล่านี้ไปได้อย่างไร วันนี้ ByteHR จึงขอหยิบคอนเซ็ปของ VUCA มาให้ทุกคนได้รู้จัก
VUCA คือ อะไร?
จริงๆแล้ว VUCA ไม่ใช่คอนเซ็ปใหม่แต่มีการพูดถึงมาแล้วตั้งแต่ปี 1987 ซึ่งเป็นทฤษฎีความเป็นผู้นำของสองศาสตราจารย์และนักเขียนชาวอเมริกัน Warren Bennis และ Burt Nanus ก่อนถูกนำไปใช้ในการทหารช่วงปลายของสงครามเย็น และถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งในปี 2002 และหลักทฤษฎีนี้ก็ได้มาใช้ในโลกธุรกิจ องค์กร และการศึกษาในที่สุด
VUCA ย่อมาจากคำว่า Volatility(ความไม่แน่นอน) Uncertainty(ความไม่มั่นใจ) Complexity(ความซับซ้อน) และ Ambiguity (ความคลุมเครือ) ซึ่งสื่อความถึงโลกการทำงานในปัจจุบันที่เราทำอยู่นี้ การทำงานในสภาพแวดล้อมแบบ VUCA ต้องอาศัยทั้งความรวดเร็ว การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในองค์กรแบบฉับพลัน ซึ่งเป็นสภาวะที่องค์กรเผชิญอยู่ตลอดเวลา และเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่แม้แต่แบรนด์ใหญ่ก็ล้มหายตายจาก
เบนจามิน แฟรงคลินได้กล่าวไว้ว่า "ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เท่ากับความเปลี่ยนแปลง" คำพูดนี้สื่อถึงโลกในปัจจุบันอย่างจริงที่สุด ลองคิดดูสิว่าความเปลี่ยนแปลงในองค์กรของคุณจะเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า และอะไรเป็นสิ่งหลักๆที่จะเปลี่ยนแปลงต่อจากนี้?
แต่ความเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้พนักงานเกิดความเหนื่อยล้า ความเครียด ความกลัวข้างในใจที่จะต้องต่อสู้กับโลกใหม่ การที่ไม่เข้าไปช่วยแก้ไขวิธีคิดจะส่งผลให้พนักงาน Burnout ในที่สุด สิ่งที่เราต้องทำคือการพัฒนาวิธีคิดแบบ Agile มาปรับตัวเองและทีมอย่างสม่ำเสมอ Agile mindset นี้ประกอบไปด้วย
- Positive attitude ทัศนคติเชิงบวก
- Thirst for knowledge ความกระหายความรู้ใหม่ๆ
- The goal of team success มุ่งสู่เป้าหมายของทีม
- Pragmatism ปฏิบัตินิยม หรือวิธีคิดที่เกิดจากการลงมือทำจริง
- Willingness to fail ความกล้าที่จะล้มเหลว
ในช่วงชีวิตการทำงาน ผู้นำที่มีประสบการณ์สูงมักจะมองข้ามความสำคัญของการปรับตัวอยู่เสมอไป และยึดติดกับวิถีการเลื่อนขั้นในที่ทำงานแบบเดิมๆ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ในโลกการทำงานปัจจุบัน สิ่งที่เกิดในอดีตนั้นไม่ได้หมายความว่ามันจะใช้ได้ผลกับโลกการทำงานในอนาคตเสมอไป เหมือนคำพูดที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ก็ดูเหมือนเป็นคำเปรียบเปรยที่อาจจะตกยุคไปเสียแล้ว
หากทีมหรือผู้นำองค์กรละเลยการนำ Agile มาปรับใช้ ก็จะส่งผลให้บริษัทพลาดโอกาสที่จะพัฒนาองค์กรสู่โลกอนาคต รวมไปถึงละเลยความสามารถที่จะมอบสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าให้กับลูกค้าในอนาคตอีกด้วย
แต่ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะสามารถใช้โมเดลเดียวกันได้ เพราะทุกบริษัทต่างมีความซับซ้อนขององค์กรที่ต่างกัน มีบริษัทมากมายที่ต้องการรักษาองค์กรให้คงอยู่ไปในอนาคตและพยายามเอาโมเดลของบริษัทชั้นนำมาปรับใช้ ซึ่งพวกเขาต้องพบกับความท้าทายมากมายในการลองผิดลองถูก หาส่วนที่ลงตัวและตัดทิ้งส่วนที่ไม่เหมาะไป ผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่ต้องกระตุ้นพนักงานและคนในทีม ปล่อยให้พวกเขาได้ล้มเหลว ได้คิดสร้างสรรค์โดยไม่ตัดสิน และลงมือทำ ทว่าหลายองค์กรกลับข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไปแล้วก๊อบปี้เอาโมเดลของบริษัทชั้นนำที่พวกเขาคิดว่าดี มาแปะใช้กับองค์กรของตัวเองโดยไม่สนใจจะปรับอะไรทั้งสิ้น
การข้ามขั้นแบบนี้ มักนำมาซึ่งผลลบต่อความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ดังนั้นเราอยากแนะนำให้คุณมาลอง 4 วิธีต่อไปนี้ที่จะทำให้คนในทีมของคุณและผู้นำองค์กรสามารถก้าวผ่านโลกของ VUCA ไปได้
1. ยอมรับความไม่แน่นอนด้วยการลับความสามารถรอบด้าน
เราทุกคนคงมีความรู้สึกตื่นเต้นและเสียววาบในช่องท้องเมื่อเห็นความผันผวนของตลาดหุ้นที่ขึ้นลงตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงในองค์กรก็เป็นเช่นเดียวกัน การจัดการกับความไม่แน่นอนและความไม่มั่นใจเป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องฝึกให้ชินเพื่อที่จะสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละวัน อะรไที่คุณรู้สึกว่าเป็นทักษะที่จำเป็น ก็ให้ลงมือทำและพัฒนาทักษะนั้นขึ้นมา เมื่อถึงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง คุณก็สามารถปรับตัวได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้ฝึกฝนความสามารถด้านอื่นเลย
2. เปลี่ยนจากความไม่แน่นอนไปสู่ความเข้าใจ
ปฏิกิริยาของคนทั่วไปต่อความไม่แน่นอนคือ “ความกลัว” ซึ่งมักจะนำไปสู่การต่อต้าน แต่ในยุคดิจิตอล เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานร่วมกันของคนในทีม ซึ่งทำได้หลายวิธีตั้งแต่เครื่องมือการทำงานร่วมกันออนไลน์ เช่น การใช้แดชบอร์ด และแพล็ตฟอร์มการสื่อสารในที่ทำงาน เช่น Slack Asana Trello และอื่นๆอีกมาก ที่ใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายทีมร่วมกัน หรือแม้แต่การลองสร้างคอมมูนิตี้การเรียนรู้ออนไลน์เป็นฟอรัมเพื่อให้พนักงานเรียนรู้จากกันและกัน สิ่งนี้สามารถเพิ่มความรู้ของพนักงานเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่รู้ และสามารถช่วยลดความกลัวและความเครียดลงไปได้
3. แก้ไขปัญหาความซับซ้อนโดยการสร้างคอนเนคชั่น
การสร้างคอนเนคชั่น ทำความรู้จักคนในองค์กรผ่านการจัดกิจกรรม หรือให้โอกาสคนต่างแผนกได้คิดโปรเจ็คใหม่ๆร่วมกัน การสื่อสารที่สม่ำเสมอเป็นหัวใจหลักที่ทำให้พนักงานได้ช่วยแบ่งปันข้อมูล ค้นหาคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงรับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้ที่สามารถให้คำตอบได้ วิธีนี้จะช่วยให้พนักงานร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในองค์กรได้
4. แก้ไขความคลุมเครือด้วยความเป็นผู้นำ
ผู้นำต้องพัฒนาวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึง VUCA และเป็นแบบอย่างที่ดี ที่จะนำพาพนักงานผ่านช่วงที่สับสนวุ่นวาย และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรโดยตระหนักถึงความพร้อมขององค์กรตลอดเวลา ผู้นำอาจจะใช้แบบสำรวจเพื่อประเมินความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงของพนักงาน และวิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อพนักงานอย่างไร และจงใส่เป้าหมายไปในสิ่งที่พวกเขารักที่จะทำ และให้รางวัลเมื่อพวกเขาทำสำเร็จ
iPhone เป็นตัวอย่างการเปรียบเทียบที่ดีว่าทำไมผู้นำต้องพยายามที่จะไปข้างหน้าเสมอ เพราะเมื่อก่อนโทรศัพท์ออกรุ่นใหม่ทุกๆ 2 ปี จนมาเป็นทุก 12 เดือน และตอนนี้คือทุก 6 เดือน
เมื่อก่อนองค์กรของคุณจะมีการพัฒนาความเป็นผู้นำทุกๆ 5 ปี แต่ตอนนี้คุณต้องพร้อมพัฒนาตลอด ไม่ใช่รอให้เวลามาถึงแล้วค่อยเรียนรู้
จงจำไว้ว่าทุกครั้งที่คุณอัปเดต iPhone จงอัปเดตตัวเองด้วย! โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่มากประสบการณ์ต้องไม่ประมาทและต้องตามโลกให้ทันอยู่เสมอ
นี่เป็นเพียงไม่กี่วิธีในการปรับความเป็นผู้นำหรือการพัฒนาตัวเองของคุณสู่โลกการทำงานแบบ VUCA ลองนำไปใช้แล้วปรับวิธีที่ใช่เข้ากับทีมและองค์กรของคุณ