​​5 เทรนด์ธุรกิจสำคัญปี 2566 ที่ทุกบริษัทต้องรู้


business


ธุรกิจต่างๆ เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่และได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอนต่อไปในปี 2566 ธุรกิจต่างๆ จะต้องรับมือกับผลที่ตามมาจากโรคระบาดทั่วโลก การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

วันนี้ ByteHR จะมาพูดถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับการทำธุรกิจในปี 2566 ที่จะถึงนี้จาก Forbes เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมรับมือไปพร้อมกัน


1. การเร่งความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล


ในปี 2565  เราเห็นนวัตกรรมและการพัฒนาในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI),Internet of Things(IoT), Virtual reality/Augmented reality(VR/AR), คลาวด์คอมพิวติ้ง(Cloud Computing), บล็อกเชน(Blockchain) และ 5G ซึ่งได้เข้ามาส่งเสริมวิถีการทำงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบการทำงานทางไกล (Remote Working)รูปแบบผสมระหว่างการทำงานที่บ้านและที่ทำงาน (Hybrid working) การตัดสินใจด้านธุรกิจ และการเข้ามาจัดการระบบอัตโนมัติ ของการทำงานแบบแมนนวล หรือการเซตการทำงานในรูปแบบตารางประจำวัน หรือแม้แต่เข้ามาจัดการงานในรูปแบบของงานครีเอทีฟ


การผสมผสานเทคโนโลยีเหล่านี้ ช่วยให้เราสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และทำให้เราเข้าใกล้จุดที่เราสามารถสร้าง "องค์กรอัจฉริยะ" ที่ระบบจะสามารถขับเคลื่อนให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


digital


2. ความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานและเงินเฟ้อ


ในปี 2566 แนวโน้มเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกดูไม่ดีนัก เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างบอกเราให้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะดำเนินต่อไปท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง หลายอุตสาหกรรมยังคงประสบปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานซึ่งเกิดขึ้นจากผลกระทบที่เกิดจากโควิด19 และยิ่งแย่ลงไปอีกเนื่องจากสงครามในยูเครน 


บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงความยืดหยุ่นของตนในทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อความอยู่รอด เช่น การลดความเสี่ยงในการกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงตลาดที่ผันผวน รวมถึงการสร้างมาตรการป้องกันในห่วงโซ่อุปทานเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนด้านขนส่งที่เพิ่มขึ้น


บริษัทสามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้หลายวิธี เช่น หาซัพพลายเออร์ทางเลือกและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เช่น การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เองหรือซื้อจากโรงงานที่ผลิตในประเทศ เพราะบริษัทหลายแห่งตัดสินใจจัดหาชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตของตนเอง หลังจากที่พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการพึ่งพาการผลิตของจีน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายปลอดโควิด


3. ความยั่งยืน


ทั้งโลกกำลังตื่นตัวมากขึ้น ในเรื่องของภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่แปรปรวนของโลก ซึ่งจะสร้างความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งที่เราเคยประสบในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อาจจะมากกว่าโควิดเสียด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่านักลงทุนและผู้บริโภคต้องการธุรกิจที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อชะลอผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ผู้บริโภคเองก็หันมาใส่ใจด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นปัจจัยหนึ่งเมื่อเลือกว่าจะซื้อสินค้าจากใครหรือทำธุรกิจด้วย


ในปี 2566 บริษัทจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance - ESG) ถูกจัดให้เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ของธุรกิจ สิ่งนี้ควรเริ่มต้นด้วยการวัดผลกระทบที่ธุรกิจต่างๆ มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงค่อยขยับไปสู่การเพิ่มความโปร่งใส การรายงาน และความรับผิดชอบ ทุกธุรกิจต้องการแผนการที่มีเป้าหมายและกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะลดผลกระทบเชิงลบได้อย่างไร

sustainability


4. ประสบการณ์ที่น่าจดจำของลูกค้า


เราอาจเห็นแล้วว่าในปีที่ผ่านมา มีการพูดถึง User Experience ที่มากขึ้นในทุกๆ ธุรกิจ และในปี 2566 กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็ต่างให้ความสำคัญด้านประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับเหนือสิ่งอื่นใด แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ราคาและคุณภาพจะเป็นเรื่องรองเสมอไป เพราะทั้งสองอย่างหลังก็ยังมีผลต่อประสบการณ์โดยรวมในการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า


ตามปกติแล้วเทคโนโลยีมีจะเข้ามามีบทบาทในการทำให้ชีวิตของผู้บริโภคง่ายขึ้น เช่น ระบบแนะนำสินค้าที่ช่วยให้เราเลือกสิ่งที่จะซื้อจากความสนใจของเรา หรือเว็บบริการลูกค้าออนไลน์ที่จัดการกับปัญหาและการสนับสนุนลูกค้าหลังการขายอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้จะยังคงมีบทบาทสำคัญในปี 2566 โดยเน้นการสร้างกิจกรรมที่มีการสื่อสารโต้ตอบระหว่างองค์กรและลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับลูกค้า


“ขั้นกว่าของอินเทอร์เน็ต” จะเกิดขึ้นจากการที่เราสามารถโต้ตอบกับแบรนด์และผู้บริโภครายอื่นผ่านเทคโนโลยีที่สมจริง รวมถึงเทคโนโลยี 3 มิติและ VR

ลองนึกถึงร้านค้าออนไลน์ที่เราสามารถเรียกดูและ "ลอง" เสื้อผ้า เครื่องประดับในรูปแบบเสมือนจริงได้ เราอาจใช้ห้องแต่งตัวเสมือนจริงเพื่อแต่งตัวอวตารของตัวเรา หรืออาจใช้ AR เพื่อดูว่าเสื้อผ้าจะเข้ากับรูปร่างจริงของเราได้อย่างไร แนวโน้มเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์


กระแสนิยมที่มีต่อการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้านั้นแข็งแกร่งมากจนแบรนด์ต่างๆ เช่น Adobe และ Adweek แต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประสบการณ์ (Chief Experience Officer - CXO) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานในองค์กร เท่าๆ กับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีทักษะการทำงานที่แข็งแกร่งและนำประสบการณ์ที่ดีที่ได้จากองค์กรไปบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น


5.ความท้าทายของการจ้างงาน


ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของบุคลากร เช่น การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) และการลาออกอย่างเงียบๆ (Quiet Quitting) เนื่องจากผู้คนได้ใช้เวลาหลังการระบาดของโควิด 19 เพื่อประเมินสิ่งที่พวกเขาต้องการได้รับจากชีวิต สิ่งนี้สร้างแรงกดดันต่อนายจ้างมากขึ้น เพราะนายจ้างต้องปรับและสร้างอาชีพที่น่าสนใจ มีความยืดหยุ่นของการทำงานแบบผสมผสาน มีวัฒนธรรมบริษัท สภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าดึงดูด และมอบโอกาสที่ต่อเนื่องในการเติบโตและเรียนรู้ให้กับพนักงาน 


ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้นจะนำไปสู่การสร้างระบบอัตโนมัติในที่ทำงานมากขึ้นทั่วโลก มนุษย์จะทำงานร่วมกันกับระบบอัจฉริยะและหุ่นยนต์อัจฉริยะมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงานแล้ว บริษัทก็ต้องนำเทคโนโลยีด้านการจัดการทรัพยากรหรือ โปรแกรม HR มาใช้ควบคู่กันไป เพื่อตอบสนองวิถีการทำงานของบุคลากรที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น


Khun Sea
เกี่ยวกับผู้เขียน
ซีมีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายกว่า 9 ปี ในด้านทรัพยากรบุคคล การสรรหาบุคลากร และการตลาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ปัจจุบันเธอกำลังสร้างประสบการณ์การทำงาน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในภาคธุรกิจการบริการ โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเธอในการขับเคลื่อนกลยุทธ์นวัตกรรมทางการตลาด