8 โมเดลเพื่อการตัดสินใจที่เฉียบคมในทุกสถานการณ์
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัวและธุรกิจของเรา คือผลพวงของการตัดสินใจทั้งสิ้น แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ตัดสินใจเลือกอะไรที่เด็ดขาด แต่การกระทำอื่นๆของเราก็มักชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วอะไรคือสิ่งที่เราเลือก
8 โมเดลเพื่อการตัดสินใจนี้ จะช่วยวางทิศทางในการประเมินความเป็นไปได้ต่างๆได้อย่างถี่ถ้วนและตัดผลลัพธ์ที่คุณไม่ต้องการทิ้งไป
1.จงตัดสินใจให้เร็วและบ่อยครั้ง แต่จงหยุดเมื่อเห็นว่าประตูเปิดไว้แค่ทางเดียว
เจฟฟ์ เบโซส์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon.com ได้กล่าวถึงรูปแบบการตัดสินใจที่ดีที่สุดเอาไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นดังนี้
ทุกการตัดสินใจจะให้ผลลัพธ์บางอย่างเสมอ และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว บางอย่างก็สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ แต่อีกหลายอย่างก็ไม่สามารถหวนกลับมาได้ถ้าได้ตัดสินใจไปแล้ว เพราะฉะนั้นการตัดสินใจแต่ละครั้งจึงต้องคิดอย่างรอบคอบและเป็นระบบ
หากการตัดสินใจของคุณให้ผลลัพธ์ไม่เป็นตามที่คาดหวัง และไม่อาจหวนคืนมาสู่จุดเดิมได้ เราสามารถเรียกการตัดสินใจแบบนี้ได้ว่า การตัดสินใจแบบที่ 1
แต่หากเป็นการตัดสินใจที่คุณสามารถย้อนกลับมาสู่จุดเดิมได้ เหมือนมีประตูที่เปิดไว้สองทาง เราเรียกการตัดสินใจแบบนี้ได้ว่า การตัดสินใจแบบที่ 2 เมื่อผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาตามที่คุณคาด คุณก็ไม่ต้องอยู่กับผลนั้นนานนัก คุณสามารถเปิดประตูนั้นได้อีกครั้งและย้อนกลับไปได้
เคล็ดลับในการตัดสินใจไม่ว่าแบบใดก็ตาม คือ ประเมินว่าการตัดสินใจครั้งนี้สามารถย้อนกลับได้หรือไม่หากผลไม่เป็นไปตามคาด และหากมันเป็นการตัดสินใจแบบที่ 1 คุณควรรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะตัดสินใจช้าลงเพื่อให้เวลาและความสนใจในเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจให้มากขึ้น
2. สร้างหลักการไว้ล่วงหน้าและเดินตามทางนั้น
เมื่อคุณต้องเผชิญกับการตัดสินใจ มันมักไม่ใช่เรื่องที่จะบอกได้ทันทีว่าขาวหรือดำ เพราะมันมักจะมีเฉดสีเทาอยู่เสมอ สิ่งที่คุณต้องคิดก่อนคือ การตัดสินใจนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่คุณยึดมั่น เชื่อถือ เพราะการตัดสินใจของคุณจะอยู่บนพื้นฐานเหล่านี้ ทำให้คุณมีหลักการที่ไว้ยึดถือเพื่อประกอบการตัดสินใจในแต่ละครั้ง
ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดคือ การตั้งหลักการที่ไม่มีข้อแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน
หากไม่มีการกำหนดข้อแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน ก็เป็นการยากที่จะปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น เราตั้งหลักการในการตัดสินใจในธุรกิจเอาไว้ว่า "สร้างความสัมพันธ์ระยะยาว โดยปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์อยู่เสมอ" เพราะฉะนั้นแล้วหลักในการคิดของเราคือ เรายอมเสียผลกำไรระยะสั้น เพราะความสัมพันธ์ที่ดีนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวเป็นต้น
3. ใช้วิธีลำดับที่สองของความคิด (Second-order thinking)
นักลงทุนชั้นนำของโลก อย่าง ชาลี มังเกอร์ วอเรน บัฟเฟต และโฮเวิล์ด มาร์ค พูดถึงความสำคัญของโมเดลที่เรียกว่า "ลำดับที่สองของความคิด (Second-order thinking)"
ในโลกของเทคโนโลยี ปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla เรียกมันว่า "การคิดต่อจากหลักการแรก (Thinking from first principles)" เป็นการคิดที่ไม่ได้การพิจารณาแค่สิ่งที่ฉาบเบื้องหน้า แต่เจาะลึกลงไปถึงปัจจัยพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ในธุรกิจมักจะหมายถึงการพิจารณาผลกระทบทางการเงิน (ต้นทุนเทียบกับรายได้) ผลกระทบของเงินสด
ต่อหลักการของคุณ ต่อความเป็นจริงของตลาด ต่อจิตวิทยาของมนุษย์ในบริบทที่กว้างขึ้น
หลักการ "Five Whys" ของโตโยต้าเป็นตัวอย่างที่ดีของเทคนิคที่จะช่วยให้คุณใช้ ลำดับที่สองของความคิด
ทำไมปัญหานั้นถึงเกิดขึ้น? แล้วถามตัวเองว่าทำไมไปห้าครั้ง
ทำไมเราถึงตัดสินใจเช่นนั้น? แล้วถามตัวเองว่าทำไมอีกห้าครั้ง
วิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มใช้ลำดับที่สองของความคิดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือการถามตัวเองตลอดเวลาว่า “แล้วยังไงต่อ”
4. รับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
คุณต้องจัดลำดับความสำคัญเรื่องต่างๆให้ดี เพราะไม่มีสิ่งใดที่มีความสำคัญเท่ากัน ในโลกใบนี้ทุกอย่างล้วนมีลำดับความสำคัญ 1,2,3,4
ไม่ว่าคุณจะมีทรัพยากรในมือที่หายากหรือเหลือเฟือเพียงใด คุณต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ถ้าคุณทำสองอย่างพร้อมๆกัน มีแต่จะทำให้ทั้งสองอย่างล่าช้าและเสียจุดโฟกัส
เมื่อคุณต้องการตัดสินใจ ให้จินตนาการถึงผลที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้หากการตัดสินใจของคุณไม่ได้ผลที่ต้องการ การความเสี่ยงเป็นที่ยอมรับได้และคุณสามารถบรรเทาผลเสียนั้นภายหลัง หรือคุณสามารถคาดการณ์และหลีกเลี่ยงได้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าคุณสามารถดำเนินการต่อไปได้
5. กำไรคือรางวัลสำหรับความเสี่ยง
การยอมรับความเสี่ยง ทำความเข้าใจและทำงานกับมันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
ถ้าจะพูดอีกอย่างคือ คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้หากต้องการเติบโต
น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนเก่งๆมักไม่ชอบความเสี่ยง อย่างไรก็ตามพวกเขามักเลือกรับความเสี่ยงที่คนอื่นจะไม่ทำ เพราะพวกเขาจะปฏิบัติตามหลักการของตนเองและใช้ความคิดลำดับที่สองของตัวเองมาช่วยในการตัดสินใจ เพื่อยอมรับความเสี่ยงที่ประมาณการไว้ได้
6. รู้จักจิตวิทยาในจิตใจของตนเองและคนรอบข้าง
นักลงทุนระดับโลกมักกล่าวถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของจิตวิทยามนุษย์ต่อวิธีการทำงานของสิ่งต่างๆบนโลกใบนี้ เพราะจิตวิทยาเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจเพราะจิตวิทยามีผลสามารถทำให้มนุษย์เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ยกตัวอย่างจากคำปราศรัยของ ชาลี มังเกอร์ที่เขากล่าวที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในปี 1995 ได้กล่าวไว้ว่า
"อารมณ์และอคติของคุณจะส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณ ดังนั้นคุณต้องตระหนักถึงรูปแบบความคิดของตัวเอง จากนั้นพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทางอารมณ์ของคนรอบข้าง ตลาด และลูกค้าของคุณ”
7. คิดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในทางตรงกันข้ามด้วยวิธีการคิดแบบผกผัน
ลองนึกภาพผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดที่คุณจะพบเมื่อได้ตัดสินใจบางอย่างไป และวิธีที่คุณจะไปถึงจุดนั้น แล้วทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามซึ่งเรียกว่าการผกผัน การผกผันคือการคิดย้อนกลับจากผลลัพธ์เพื่อหาทางแก้ปัญหา
8. จงคิดให้ยืดหยุ่น
สุดท้ายโลกไม่ได้มีแค่สีดำและสีขาว โดยปกติจะเป็นโทนสีเทา ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่คุณพร้อมที่จะเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของคุณ ไปสู่รูปแบบอื่น ซึ่งอาจทำให้คุณมองเห็นปัญหาและการตัดสินใจในแบบที่คุณไม่เคยได้ลองมาก่อน แม้ว่าการคิดแบบมีหลักการนั้นดีเสมอ แต่บางครั้งการมองไปที่พื้นที่สีเทาบ้างเพื่อตรวจสอบวิธีคิดและปรับเปลี่ยนอย่างมีเหตุผล อาจจะพาคุณไปสู่แนวทางการตัดสินใจใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น