HR ต้องรู้ ขั้นตอนการยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน​​

HR ต้องรู้ ขั้นตอนการยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

 

อีกหน้าที่ของตำแหน่ง HR เมื่อคุณทำงานในบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนนั่นคือ การยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้พนักงานภายในองค์กรสามารถเข้ารับการฝึกอบรมต่าง ๆ โดยไม่ติดขัดปัญหา และยังเป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพนักงานให้สามารถทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ องค์กรเติบโตในทิศทางที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ Byte HR ผู้นำด้านโปรแกรม HR จึงอยากแนะนำขั้นตอนการยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแบบละเอียด ทำตามได้เลย

การยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คืออะไร

การยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ ขั้นตอนที่นายจ้างหรือฝ่าย HR ต้องมีการยื่นข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมและพัฒนาทักษะของพนักงานในองค์กรไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อันเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยรายละเอียดกฎหมายได้ระบุไว้ว่า

สถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 100 คน ต้องยื่นรายงานการฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ด้วยเงื่อนไขให้มีการจัดฝึกอบรมกับพนักงานเพื่อพัฒนาทักษะไม่ต่ำกว่าปีละ 6% ของจำนวนพนักงานองค์กรทั้งหมด จากนั้นต้องส่งรายงานผลด้านการฝึกอบรมกับทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรณีไม่ทำตามข้อกำหนดดังกล่าวนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้าไปยังกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานแทน

ข้อควรรู้ของการยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ตามหลักการแล้วนายจ้างต้องทำรายงานค่าใช้จ่ายพร้อมหลักฐานการจ่ายเงินของแต่ละหลักสูตรอบรมตามจริง รายละเอียด และกำหนดการของหลักสูตรยื่นต่อนายทะเบียนให้ยอมรับความเห็นชอบไม่เกิน 60 วัน หลังการฝึกเสร็จสิ้น และไม่เกินวันที่ 15 มกราคม ของปีถัดไป ซึ่งปัจจุบันสามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว

เอกสารที่นายจ้างต้องมีการจัดเตรียมเพื่อยื่นฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

1. กรณีฝึกอบรมเองภายในองค์กร หรือ จ้างการจัดฝึกแรงงาน

  • รายละเอียดหลักสูตร

  • ไฟล์สำเนาใบเสร็จ (หากมีค่าใช้จ่าย)

  • กำหนดการฝึกอบรม

  • แบบฟอร์มรายชื่อผู้เข้าฝึกอบรม (ไฟล์ generic9_rev1.xls.)

  • ใบเซ็นชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม

2. กรณีส่งพนักงานไปฝึกอบรม

  • รายละเอียดหลักสูตร

  • กำหนดการฝึกอบรม

  • แบบฟอร์มรายชื่อผู้เข้าฝึกอบรม (ไฟล์ generic9_rev1.xls.)

  • หลักฐานแสดงการส่งบุคลากรไปอบรม เช่น หนังสือส่งตัววุฒิบัตร ใบเสร็จการฝึกอบรม ฯลฯ

ทั้งนี้กรณีเป็นการฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการเพิ่มเติมเอกสารกับทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้แก่

  • ใบลงทะเบียนผู้รับการฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (การแสดงตัวตนก่อนเข้ารับการฝึกอบรม) แบบ ฝย. / ฝป.3-1

  • แบบแสดงตนด้วยภาพของผู้เข้ารับการฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ภาพถ่ายหน้าจอเห็นใบหน้าผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคน) แบบ ฝย. / ฝป.3-2

ขั้นตอนการยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านออนไลน์

ในส่วนของขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ไม่ได้มีความยุ่งยากใด ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อความสะดวก รวดเร็ว สามารถทำตามรายละเอียดเหล่านี้ได้เลย

1. เข้าไปยังหน้าระบบบริการ PRB e-Service จากนั้น Log in เข้าระบบ หรือถ้ายังไม่เคยสมัครให้ทำการลงทะเบียนก่อน

2. คลิกเมนู “ยื่นรับรอง (ฝึกเอง/จ้างจัดฝึก)” หรือถ้าเป็นการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพให้คลิกเมนู “ยื่นรับรอง (ส่งฝึก)” 

3. กรอกข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นรับรองฯ รวม 6 ขั้นตอน ได้แก่

  • ข้อมูลบริษัท

  • ข้อมูลเอกสาร

  • ข้อมูลหลักสูตร

  • ข้อมูลรุ่นในแต่ละหลักสูตร

  • ข้อมูลเอกสารแนบต่าง ๆ

  • สถานะการรับรอง

4. ทำการบันทึกข้อมูล เท่านี้ก็เรียบร้อย

บทสรุป

การยื่นเอกสารฝึกอบรมต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นสิ่งที่นายจ้างและฝ่าย HR ของบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย รวมถึงตัวพนักงานเองก็ยังได้ฝึกทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งผลดีก็ยังตกกับบริษัทในด้านของผลงานที่พัฒนาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการยื่นสามารถดำเนินการผ่านออนไลน์ได้ทันที สะดวก รวดเร็ว ง่ายดาย ส่วนบริษัทไหนกำลังสนใจโปรแกรม HR เพื่อช่วยให้การทำงานต่าง ๆ เช่น คำนวณเงินเดือน จัดกะพนักงาน การเก็บข้อมูลเข้า-ออกงาน และอื่น ๆ เป็นเรื่องง่ายขึ้น ขอแนะนำโปรแกรมจาก Byte HR ฟีเจอร์ครบครัน อัปเดตให้ใหม่ตลอด ราคาคุ้มค่า ใช้งานง่าย ตอบโจทย์องค์กรทุกประเภทอย่างแน่นอน


Pim Srisomboon
เกี่ยวกับผู้เขียน
พิมพ์เป็นนักเขียนคอนเทนท์ที่มีประสบการณ์กว่า 7 ปีในด้านซอฟแวร์เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลและการอบรม เธอมีความชื่นชอบในด้านซอฟแวร์ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องความซับซ้อนของกระบวนการและการพัฒนาซอฟแวร์