บทบาทที่เปลี่ยนไปของ HR ในยุค GIG ECONOMY



Gig Economy หมายถึง ตลาดแรงงานที่โดดเด่นในการรับงานสัญญาจ้างระยะสั้น หรือการรับงานอิสระและงานที่ไม่ใช่งานประจำ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นทั้งในเรื่องของเวลาและสถานที่ในการทำงาน โดย Gig economy นี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปของคนในยุคปัจจุบันที่นิยมรับงานเป็นโปรเจค หรือรับงานฟรีแลนซ์มากกว่าเป็นพนักงานประจำ

บางบริษัทในยุคปัจจุบันก็เริ่มปรับตัวและอ้าแขนรับเทรนด์นี้มากขึ้น เพราะพวกเขาสามารถจ้างพนักงานได้ในเงินทุนที่ต่ำลง และพนักงานสามารถเข้ามาทำงานในเวลาที่เราต้องการได้ แต่โมเดลนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายที่เหล่า HR ต้องเผชิญในเรื่องของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันในมุมกว้างระหว่างการเปิดรับ Gig economy และการจ้างงานตามแบบดั้งเดิม


สิ่งที่ควรคำนึง
มองในแง่ดีแล้ว Gig economy ดูจะเป็นโมเดลการจัดการองค์กรที่น่าสนใจแต่หาก HR ไม่ปรับตัวและยังใช้ระบบการจัดการคนในองค์กรแบบเดิม ก็ยากที่จะบริหารคนให้ราบรื่นได้ โดยปกติแล้วเมื่อพูดถึงพนักงานสัญญาจ้าง หลายบริษัทจะให้แค่ค่าตอบแทนแต่ไม่ได้ให้วันหยุดหรือสิทธิ์ต่างๆที่พนักงานควรจะได้รับเท่าเทียมกับพนักงานประจำ ซึ่งงานบางงานเช่น คนขับรถส่งของ มักเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย ก็ควรจะให้พนักงานได้รับสิทธิคุ้มครองเช่นกัน การมองข้ามการให้สิทธิ์ที่เท่าเทียมกับพนักงานประจำก็อาจทำให้องค์กรสูญเสียโอกาสที่จะได้บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางมาร่วมงาน เพราะบุคลากรเหล่านี้มักจะรู้ความต้องการของตลาดและเลือกรับงานเป็นโปรเจคมากกว่าที่จะอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้นสิทธิพิเศษต่างๆที่บริษัทสามารถเสนอให้นั้น อาจจะช่วยดึงดูดให้พวกเขาสนใจเข้ามาทำงานกับคุณมากกว่าบริษัทคู่แข่ง

พอล ฟิลิป (Paul Phillips) Global Head of Talent Acquisition ของบริษัท Avanade – บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ควบรวมระหว่าง Accenture และ Microsoft) ได้กล่าวถึงการปรับตัวของ HR กับ Gig Economy ไว้ว่า การไว้วางใจในการใช้พนักงานสัญญาจ้างนั้นมีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันพนักงานเหล่านี้ก็นำข้อดีหลายอย่างให้กับบริษัทที่กำลังเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานตลอดเวลา เช่น ในโลกของธุรกิจด้านเทคโนโลยี พนักงานที่รับงานเป็นโปรเจคๆไปนั้นเป็นเรื่องที่ปกติมาก พวกเขามักเป็นพนักงานที่มีทักษะเฉพาะทางสูงและเป็นที่ต้องการมากในตลาด โดยพวกเขาจะย้ายไปรับโปรเจคที่ต่างกันในบริษัทที่ต้องการตัวพวกเขาเป็นครั้งๆไป

เมื่อบริษัทได้ตัดสินใจแล้วว่าจะรับพนักงานสัญญาจ้างเข้ามาทำงาน HR จะปรับตัวอย่างไรเพื่อปรับแนวทางการจัดการพนักงานในองค์กรที่มีพนักงานสัญญาจ้างเข้ามาร่วมด้วย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคัดคนเข้าทำงาน การประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน การฝึกอบรม การรักษาพนักงานในองค์กร เป็นต้น


รวดเร็ว ปรับตัว พร้อมใช้งาน
พอลกล่าวว่า ขั้นตอนการรับพนักงานสัญญาจ้างในยุคนี้ไม่ควรพิจารณานานเกินไป เพราะแนวคิดของ Gig economy คือ การที่ผู้คนเข้ามาทำงาน จบงานและออกไป ดังนั้นบริษัทต่างๆต้องเปลี่ยนวิธีการจัดหา การคัดเลือก การเทรนนิ่งก่อนเข้าทำงานให้สั้นลง กลายเป็นสัปดาห์หรือวันแทนที่จะเป็นเดือน เพราะหลายครั้งที่ HR ในบริษัทต้องแย่งชิงตัวบุคลากรกับบริษัทอื่นเพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุด ดังนั้นหากคุณไม่ปรับวิธีการต่างๆเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพในเวลาที่รวดเร็ว บริษัทอื่นก็จะได้บุคลากรเหล่านั้นไปครองแทน

ผ่านมาและผ่านไป
ความแตกต่างที่สำคัญในการบริหารพนักงานแบบ Gig economy และแบบดั้งเดิมคือแนวทางการรักษาพนักงานในองค์กร (Employee Retention)

การรักษาพนักงานเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับหลายบริษัท แต่ไม่ใช่บริษัทที่ใช้พนักงานแบบ Gig Economy เพราะคุณไม่จำเป็นต้องจูงใจบุคลากรให้อยู่ต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สนใจใยดีพวกเขาเลย แต่สิ่งที่เหล่า HR ต้องทำในการบริหารบริษัทที่ใช้พนักงานสัญญาจ้างให้ได้ประสิทธิภาพคือคุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้พวกเขากลับมา

นี่คือความหมายของ Employee retention ที่เปลี่ยนไปในยุค Gig economy เพราะประสิทธิภาพของการจัดการอยู่ที่ว่าคุณสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กร ประสบการณ์การทำงานที่ดีและการมีส่วนร่วมในองค์กรให้กับบุคลากรที่เข้ามาทำงานในช่วงระยะเวลาสั้นๆได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ดึงดูดให้พนักงานสัญญาจ้างที่มีคุณภาพกลับมาทำงานให้คุณอีกครั้ง?

“คุณไม่จำเป็นต้องจูงใจบุคลากรให้อยู่ต่อ แต่คุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้พวกเขากลับมา”


ยอมรับความเปลี่ยนแปลง
ท้ายที่สุดแล้ว HR อาจจะไม่มีทางเลือกว่าจะยอมรับแนวทางของ Gig Economy หรือไม่ เพราะมันก็เหมือนเรื่องของ AI(ปัญญาประดิษฐ์) ที่เกิดจากการเป็นเทรนด์ที่ทุกคนพูดถึงสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริงในโลกปัจจุบัน และด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นบวกกับแนวโน้มของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด การปรับตัวขององค์กรโดยใช้พนักงานสัญญาจ้างแบบ Gig Economy ก็อาจเป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลเพราะจะช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่ว่าแต่ละบริษัทนั้นมีความต้องการบุคลากรสัญญาจ้างในแบบที่ต่างกัน ดังนั้น HR จึงต้องทบทวนและปรับปรุงระบบภายในองค์กรเพื่อสะท้อนและสนับสนุนการตัดสินใจของบริษัทในการใช้พนักงานแบบ Gig economy

บริษัทหลายประเภทโดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยียิ่งต้องตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนทักษะในอุตสาหกรรม มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะกำหนดวิธีการ ปรับให้เข้ากับความต้องการและความพึงพอใจของคนรุ่นใหม่และนำเสนอวิธีการทำงานใหม่ๆได้อย่างไร โดยพอลได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล เราต่างมีความรับผิดชอบในการปรับปรุงระบบอยู่เสมอ ไม่ว่าพนักงานจะอยู่กับเรานานแค่ไหน หรือกลับมาทำงานบ่อยแค่ไหนก็ตาม

อ้างอิง [1]
หากคุณยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นใช้โปรแกรมบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไรในยุค Gig economy และยังไม่แน่ใจว่าฟังก์ชันต่างๆจะตอบสนองความต้องการใช้งานของบริษัทคุณหรือไม่ คุณสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของ ByteHR ฟรีได้ทาง 02 026 3297 หรือติดต่อ

sales@byte-hr.com

« ทำอย่างไรเมื่อพนักงานลาหยุดเพราะความเครียด?3 สิ่งที่ผู้นำ HR ต้องรู้ในปี 2020 โดย Gartner »

Sea
เกี่ยวกับผู้เขียน
ซีมีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายกว่า 9 ปี ในด้านทรัพยากรบุคคล การสรรหาบุคลากร และการตลาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ปัจจุบันเธอกำลังสร้างประสบการณ์การทำงาน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในภาคธุรกิจการบริการ โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเธอในการขับเคลื่อนกลยุทธ์นวัตกรรมทางการตลาด