ความรู้เบื้องต้นการจดทะเบียนบริษัทในเครือ



เมื่อธุรกิจของคุณเติบโต ก็ย่อมมีการขยับขยาย ไม่ว่าจะเป็นสาขา ร่วมทุน หรือเพิ่มบริษัทในเครือหรือบริษัทลูก หลายคนอาจเข้าใจว่าการจดทะเบียนบริษัทในเครือ อาจมีความแตกต่างจากการจดทะเบียนบริษัทธรรมดา ความเป็นจริงแล้ว การจดทะเบียนบริษัทในเครือ มีขั้นตอนที่เหมือนกับการจดทะเบียนบริษัทธรรมดาแทบทุกประการ วันนี้ ByteCrunch จะมาให้ความรู้เบื้องต้นการจดทะเบียนบริษัทในเครือว่ามีอะไรที่เจ้าของธุรกิจอย่างคุณควรรู้บ้าง

ความหมาย

บริษัทลูกคือ บริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นใหม่โดยบริษัทแม่เป็นผู้จัดตั้งและถือหุ้นอยู่ หรือบริษัทที่มีอยู่แล้วแต่บริษัทแม่เข้าไปถือหุ้น ส่วนจำนวนหุ้นถ้ามากกว่ากึ่งหนึ่งก็ถือว่ามีอำนาจควบคุมจัดเป็นบริษัทย่อยหรือบริษัทลูก แต่ถ้าน้อยกว่าก็ไม่ถือเป็นบริษัทย่อยแต่จะเป็นเรื่องเงินลงทุน เช่น

1. บริษัท ก. ถือหุ้น บริษัท ข. เกิน 50% หรือไม่ถึงแต่มีอำนาจในการสั่งให้บริษัท ข. ดำเนินการตามที่สั่งได้ทุกอย่าง อย่างนี้บริษัท ข.ถือว่าเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท ก. ซึ่งการจัดทำงบการเงินทั้งงบดุล งบกำไรขาดทุน ของบริษัท ข. ต้องเอามารวมกันกับบริษัท ก. ราวกับว่าเป็นบริษัทเดียวกัน โดยต้องตัดรายการระหว่างกันออกไป

2. บริษัท ก. ถือหุ้นน้อยกว่า 50% และไม่มีอำนาจตัดสินใจใด ๆ เพียงลำพัง (สั่งให้ดำเนินการทุกอย่างตามต้องการไม่ได้) เป็นเพียงผู้ร่วมในการตัดสินใจ อย่างนี้ถือว่าบริษัท ข. เป็นบริษัทร่วมของ บริษัท ก. การบันทึกบัญชีก็บันทึกตามส่วนได้เสีย (ตามสัดส่วนการถือหุ้น)


การจดทะเบียนบริษัทในเครือสำหรับบริษัทเอกชนทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 แบบ

1. บริษัทชื่อเหมือนเดิม แต่เพิ่มสาขา

ในลักษณะนี้คือ ผู้ถือหุ้นและโครงสร้างบริษัทเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่เพิ่มสถานที่ สิ่งที่ต้องทำคือแจ้งความประสงค์ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าต้องการจดทะเบียนสาขา ถ้าหากมีโกดังเก็บของ ก็ต้องจดเป็นสาขาเช่นกัน 

2. จัดตั้งบริษัทใหม่ คนละชื่อ

การจดทะเบียนบริษัทใหม่ที่เราไปร่วมลงทุนหรือตั้งใหม่ให้เข้ามาเป็นบริษัทในเครือ ก็มีขั้นตอนเหมือนการจดทะเบียนบริษัทตามธรรมดาทุกประการ ยกเว้นว่าเราหรือบริษัทแม่ต้องถือหุ้นมากกว่า 50% เราถึงจะเป็นบริษัทแม่ ตามความหมายที่กล่าวไปเบื้องต้น ถ้าถือหุ้นน้อยกว่า 50% เราถือเป็นบริษัทร่วมทุน

3. บริษัทเราไปซื้อบริษัทอื่นมาเป็นบริษัทลูกของเรา

ขั้นตอนก็เหมือนเดิม เน้นตรงที่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่ หลังจากนั้นจึงยื่นหนังสือต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในกรณีที่เปลี่ยนชื่อ ก็ต้องยื่นจดชื่อใหม่ด้วย



ทั้งสามแบบดำเนินตามขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทดั้งนี้

1. ตั้งชื่อบริษัท

ต้องเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำกับบริษัทอื่นที่มีการจดทะเบียนไปแล้ว ซึ่งสามารถคิดชื่อและจองไว้ได้ 3 ชื่อ เผื่อชื่อแรกที่จองไว้ไม่ผ่าน เจ้าหน้าที่ก็จะใช้ชื่อลำดับต่อไปที่เราจองแทน ส่วนการจองสามารถทำได้ 2 แบบ

- ยื่นด้วยตนเองต่อนายทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่เราอาศัยอยู่ หรือหากเราอยู่ต่างจังหวัด ก็สามารถยื่นได้ที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด

- ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th

2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ

หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่ใช้แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท ต้องมีการระบุที่อยู่ วัตถุประสงค์ จำนวนหุ้น และข้อมูลของผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 3 คน รวมถึงขึ้นต้นว่าบริษัทและลงท้ายด้วยคำว่าจำกัด ต้องยื่นภายใน 30 วันนับตั้งแต่นายทะเบียนแจ้งผลการรับรองชื่อบริษัท

3. จัดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้นอาจไม่ใช่ผู้ก่อตั้งเสมอไป แต่ละคนต้องมีอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น และเมื่อขายครบ ก็ต้องออกหนังสือเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้น หลังออกหนังสืออย่างน้อย 7 วัน

4. จัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท

เป็นการประชุมหารือ การตั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทและอำนาจของคณะกรรมการ การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองงบการเงิน ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีที่คัดเลือกมารับหน้าที่จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนบริษัท กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่มกิจการหรือผู้ก่อตั้ง ไปจนถึงการกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ

5. เลือกคณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ

คณะกรรมการเหล่านี้จะมาทำหน้าที่แทนผู้ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ใต้นามบริษัท และทำหน้าที่ เก็บเงินชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาจริง จากนั้นเมื่อเก็บค่าหุ้นครบแล้ว ก็จะทำการขอจดทะเบียนบริษัท โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีการประชุม ถ้าช้ากว้านั้นก็ต้องจัดประชุมใหม่

6. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท

ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จะดำเนินการจากการคิดจากเงินทุนจำนวนแสนละ 50 บาท โดยไม่ว่าจะมีเศษเกินมากี่บาทก็ให้คิดเป็นจำนวนเต็มแสนเท่านั้น ซึ่งการชำระค่าธรรมเนียมเกณฑ์การชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท

ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท คิดตามทุนการจดทะเบียนแสนละ 500 บาทเช่นกัน แต่ขั้นต่ำในการชำระต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท

ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท

ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท

ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท

เมื่อยื่นเอกสารตามขั้นตอนครบและนายทะเบียนก็จดทะเบีบนบริษัทและมอบหนังสือรับรองแล้ว ก็ถือว่าบริษัทจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย 


การวางระบบบริหารงานภายในเชื่อมต่อบริษัทแม่และบริษัทลูกก็เป็นเรื่องที่ควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการจัดสรรทรัพยากรบุคคลระหว่างบริษัท ทั้งนี้ ByteCrunch เองก็มีฟีเจอร์ภายในโปรแกรมจัดการทรัพยากรบุคคลออนไลน์ ทั้งการเพิ่มบริษัท เพิ่มสาขา ตั้งระบบเงินเดือน หรือแม้แต่การเพิ่มแผนกในบริษัทช่วยให้ผู้บริหาร หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้บริหารระบบทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจรที่มีความยืดหยุ่น ใช้งานง่าย

หากคุณมองหาตัวช่วยที่จะช่วยให้แผนกทรัพยากรบุคคลของคุณทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่รวดเร็วมากกว่าเดิม แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นใช้โปรแกรมจัดการทรัพยากรบุคคลออนไลน์อย่างไรและฟังก์ชันต่างๆจะตอบสนองความต้องการใช้งานของบริษัทคุณหรือไม่ ลองปรึกษา ByteHR ได้ฟรีทาง  02 026 3297 หรือติดต่อ sales@byte-hr.com 

ByteHR มีโปรแกรมบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นโปรแกรม HR On Cloud ที่มีฟังก์ชั่นจัดการข้อมูลพนักงาน การคำนวณเงินเดือน รวมถึงการจัดการกะ และวัน ขาด ลา มา สาย ฯลฯ ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานขององค์กรได้อย่างหลากหลาย


Sea
เกี่ยวกับผู้เขียน
ซีมีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายกว่า 9 ปี ในด้านทรัพยากรบุคคล การสรรหาบุคลากร และการตลาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ ปัจจุบันเธอกำลังสร้างประสบการณ์การทำงาน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในภาคธุรกิจการบริการ โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเธอในการขับเคลื่อนกลยุทธ์นวัตกรรมทางการตลาด