ภาวะเงินเฟ้อ: ภาษีที่มองไม่เห็นสำหรับมนุษย์เงินเดือน​​

ภาวะเงินเฟ้อ: ภาษีที่มองไม่เห็นสำหรับมนุษย์เงินเดือน

ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่ที่คนพลุกพล่านหรือตามชนบทของประเทศไทย ทุกที่ต่างมีมนุษย์เงินเดือนเช่นคุณที่ทำงานหนักและกำลังเผชิญกับภัยเงียบที่ค่อย ๆ กัดกร่อนความมั่นคงทางการเงินของคุณ ซึ่งต้นเหตุไม่ใช่นโยบายภาษีใหม่หรือความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากแต่เป็นพลังเงียบที่ค่อย ๆ ลดทอนกำลังซื้อของคุณลงเรื่อย ๆ นั่นคือ “ภาวะเงินเฟ้อ”

วันนี้ ByteHR ผู้ให้บริการโปรแกรม HR และโปรแกรมเงินเดือนชั้นนำ พร้อมที่จะแจกแจงว่าอัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อรายได้ของคุณอย่างไร และสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อปกป้องการเงินของคุณ

อ่านเพิ่มเติม: ยื่นภาษี ภ.ง.ด.90,91 อย่างไรให้ได้เงินภาษีคืนไวๆ

ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

ลองนึกภาพว่าเมื่อปีที่แล้วคุณสามารถซื้อส้มตำจานโปรดได้ในราคา 30 บาท แต่ปีนี้เมนูเดิมกลับขึ้นราคาเป็น 35 บาท นี่คือตัวอย่างของภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น จนเงินจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อได้น้อยลง

ภัยเงียบของภาวะเงินเฟ้อ

ในแวบแรก เงินเฟ้ออาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะราคาสินค้าและบริการมักปรับตัวสูงขึ้นตามเวลาอยู่แล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าในขณะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เงินเดือนของคุณอาจเติบโตตามไม่ทัน มาดูตัวอย่างง่าย ๆ กัน

ลองจินตนาการว่าคุณเป็นชาวไทยวัยทำงานคนหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยเงินเดือนสุทธิ 20,000 บาทในปี 2024 และได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นทุกปีภายในอีก 4 ปีข้างหน้า

ปี

อัตราเงินเฟ้อ

เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น

เงินเดือนสุทธิ (บาท)

กำลังซื้อจริง (บาท)

2024

3.5%

-

20,000

20,000

2025

3.2%

2.5%

20,500

19,864

2026

3.8%

2.8%

21,074

19,661

2027

3.0%

2.0%

21,495

19,541

2028

3.3%

2.5%

22,032

19,345

แม้สลิปเงินเดือนของคุณในอีก 5 ปีให้หลังจะโชว์ว่าคุณมีเงินเดือน 22,032 บาท แต่กำลังซื้อจริงของคุณกลับลดลงเหลือ 19,345 บาทเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน

อีกนัยหนึ่ง แม้ว่าจะได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นถึง 10.2% แต่คุณก็สูญเสียกำลังซื้อไปแล้ว 3.3% อยู่ดี

บทบาทของรัฐบาล

คุณอาจสงสัยว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรมากกว่านี้เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่ความจริงแล้วรัฐบาลและธนาคารกลางมักมีเหตุผลในการยอมให้มีเงินเฟ้อในระดับหนึ่ง โดยเหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ:

1. การจัดการหนี้: รัฐบาลมักกู้ยืมเงินจำนวนมาก ถ้าอนุญาตให้มีเงินเฟ้อ รัฐบาลจะสามารถชำระหนี้เหล่านี้ด้วยเงินบาทที่มีมูลค่าน้อยกว่าเมื่อกู้ยืมมา วิธีนี้เป็นวิธีลดมูลค่าที่แท้จริงของหนี้รัฐบาลอย่างได้ผล แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชน

2. การกระตุ้นเศรษฐกิจ: ระดับเงินเฟ้อที่ต่ำและคงที่จะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนได้ดี จึงเป็นการช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ

3. หลีกเลี่ยงการลดค่าเงิน: อีกหนึ่งทางเลือกนอกจากการอนุญาตให้มีเงินเฟ้อคือการลดค่าเงิน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจมากกว่า

เราทำอะไรได้บ้าง?

แม้ว่าคุณจะไม่สามารถหยุดภาวะเงินเฟ้อได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ก็มีวิธีการที่คุณสามารถทำได้เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินของตัวคุณเอง ดังนี้:

1. ต่อรองเงินเดือน: ด้วยความรู้เท่าทันอัตราเงินเฟ้อ คุณจึงมีเหตุผลที่หนักแน่นมากพอที่จะต่อรองเงินเดือนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของคุณ

2. ลงทุนอย่างชาญฉลาด: มองหาโอกาสการลงทุนที่มีศักยภาพพอที่จะต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อได้

3. วางแผนการใช้เงินอย่างชาญฉลาด: พึงตระหนักถึงราคาของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และปรับนิสัยการใช้จ่ายของคุณให้สอดคล้องกัน

4. พัฒนาความสามารถ: การพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่องจะทำให้คุณเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากขึ้นสำหรับองค์กร ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มเงินเดือนจนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

สรุป

ภาวะเงินเฟ้อนั้นเป็นเหมือนภาษีลึกลับที่เรียกเก็บจากเงินที่คุณหามาอย่างยากลำบาก แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าระดับเงินเฟ้อที่ต่ำและคงที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อเศรษฐกิจที่แข็งแรงและกำลังเจริญเติบโต

เมื่อทำความเข้าใจผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อและวางแผนการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง คุณก็จะสามารถรับมือกับความท้าทายทางการเงินนี้ได้ดียิ่งขึ้น อย่าลืมว่าความรู้คือพลัง และในกรณีนี้ก็รวมถึงเงินในกระเป๋าของคุณด้วย

Pim Srisomboon
เกี่ยวกับผู้เขียน
Pim Srisomboon is a seasoned Content Marketer with 7 years of experience in Human Resource software and training programs. She has a deep passion for software, especially in understanding the intricacies of processes and development.